สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาตินี้ ได้เปลี่ยนชื่อเรียกต่างๆ กันมาหลายคราวและการแบ่งหน่วยงานก็เปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เหมาะสมแก่กาลสมัยตลอดจนบัดนี้ ชั้นเดิมก่อนที่ กรมพลตระเวนกับกรมตำรวจภูธรจะได้รวมเป็นกรมเดียวกันคือ ในระหว่าง พ.ศ.2441 ถึง 2458 ต่างกรมต่างก็มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เลขานุการเป็นหน่วยงานชั้นกรม เรียกชื่ออย่างเดียวกันว่า “กรมสรรพการ” สังกัดกรมพลตระเวน กับกรมตำรวจภูธร มีเจ้าหรมเป็นหัวหน้า กับมีปลัดกรมมาเป็นผู้ช่วย ครั้นวันที่ 13 ตุลาคม 2458 มีประกาศรวมพล กรมตระเวน กับกรมตำรวจภูธร เป็นกรมเดียวกัน งานกรมสรรพการของกรมพลตระเวร กับ กรมตำรวจภูธรจึงรวมเป็นกรมเดียวกัน และเปลี่ยนชื่อเรียกว่า “กรมสารบรรณ” แต่คงมีเจ้ากรมเป็นหัวหน้า และมีปลัดกรมเป็นผู้ช่วยดังเดิมจนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2475 เนื่องจากผลแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย พ.ศ.2475 จึงได้ประกาศจัดวางโครงสร้างกรมตำรวจขึ้นใหม่ตามประกาศ ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2475 กับมีประกาศเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดแบ่งแผนงานรายย่อยในกรมตำรวจโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการราษฎร ตามประกาศ กรมสารบรรณ ถูกลดฐานะลงเป็นกองและเปลี่ยนชื่อเรียกว่า “กองกลาง” มีหัวหน้าแผนกเป็นผู้กำกับการ 1 นาย แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ
1. แผนกร่าง
2. แผนกสารบรรณและคดี
3. แผนกทะเบียนพลและสถิติ
4. แผนกแพทย์
ต่อมาถึงสมัย พ.ศ.2476 จึงได้ตราพระราชกฤษฎีการจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2476 ขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับการจัดส่งราชการ เพราะแต่เดิมมาการจัดส่วนราชการกรมตำรวจก็มักจะเป็นรูปประกาศของเสนาบดีโดยอ้างกระแส พระบรมราชโองการ และต่อจาก พ.ศ.2476 การจัดส่วนราชการกรมตำรวจยังได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้งโดยพระราชกฤษฎีกา จนประทั่ง พ.ศ.2491 เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “สำนักงานเลขานุการกรมตำรวจ” และเปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้ากองเรียกว่า “เลขานุการกรมตำรวจ” แบ่งเป็น 5 แผนก คือ
1. แผนกสารบรรณ
2. แผนกทะเบียนพล
3. แผนกประวัติ
4. แผนกจัดกำลัง
5. แผนกตรวจรายงานตรวจราชการ
วันที่ 10 กันยายน 2491 พล.ต.ท.หลวงชาติ ตระการโกศล ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พ.ต.อ.โมรา ดุละลัมพะ ดำรงตำแหน่งเลขานุการ กรมตำรวจคนแรก พ.ศ.2534 ในคราวการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจวิสามัญ ครั้งที่ 4/2534 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534 ได้มีมติเป็นชอบกำหนดหน้าที่การงานของสำนักงานเลขานุการกรมตำรวจใหม่ แบ่งออกเป็น 3 กองกำกับการและ 2 กลุ่มงาน คือ
1. กองกำกับการ 1 มี 3 แผนก คือ
- งานธุรการและกำลังพล
- งานการเงินและวัสดุ
- งานนโยบายและแผน
2. กองกำกับการ 2 มี 3 แผนก คือ
- งานรับ / ส่งหนังสือ
- งานรับและเสนองานผู้บังคับบัญชา
- งานโต้ตอบหนังสือ
3. กองกำกับการ 3 มี 3 แผนก คือ
- งานการประชุม
- งานบริการการประชุม
- งานพิธีการ
4. กลุ่มงานนิติการ
5. กลุ่มงานประสานงานรัฐสภา
พ.ศ.2547 พระบาทสมเด็จประปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547เปลี่ยนชื่อเรียก“กรมตำรวจ”เป็น“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”และเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น“สำนักงานเลขานุการกรมตำรวจ” เป็น “สำนักงานเลขานุการตำรวแห่งชาติ” และเปลี่ยนตำแหน่ง “เลขานุการกรมตำรวจ” เป็น “เลขานุการตำรวจแห่งชาติ” ต่อมา พ.ศ.2548 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 และแบ่งสำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ เป็น 4 ฝ่าย คือ
1. ฝ่ายอำนวยการ
2. ฝ่ายสารบรรณ
3. ฝ่ายการประชุม
4. ฝ่ายประสานงานรัฐสภา
ตามกำหนดหน้าที่การงานของสำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการทั่วไปของสำนักงาน และราชการอื่นที่มิได้แยกเป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะ อำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึง ดำเนินการเกี่ยวกับงานธุรการ และงานสารบรรณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ งานช่วยอำนวยการ งานเลขานุการ งานประชุม งานพิธีการ งานประสานงานรัฐสภา และปฏิบัติงานร่วมกับสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
No comments:
Post a Comment